วันศุกร์ที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

โอเพ่นซอร์สในแบบไมโครซอฟต์ (Open Source at Microsoft)

เมื่อกระแส Open Source มาแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามการเจริญเติบโตของอินเตอร์เน็ต ที่พ่วงแนวคิดคำว่าอิสระ(Freedom) มาด้วย ซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี เช่น Linux, FreeBSD, PHP, Ruby, Python, Gimp, OpenOffice เป็นต้น ก็ถูกพัฒนาจากโปรแกรมเมอร์อิสระจำนวนมากมายทั่วโลก ทำให้แนวคิดการพัฒนาซอฟต์แวร์เจริญขึ้น ด้วยแนวคิดอิสระอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่ถูกจำกัดด้วยความเป็นไปได้ทางธุรกิจ จนซอฟต์แวร์ Open Source มีความสามารถทัดเทียมซอฟต์แวร์ที่ผลิตเพื่อการค้า (บางทีก็เป็นผู้นำหรือจุดประกายให้เกิดกระแสต่อโลกซอฟต์แวร์ภายหลังด้วยซ้ำ) บริษัทต่างๆ จึงเริ่มมีการนำซอฟต์แวร์ Open Source มาใช้ จนค่อยๆ แย่งส่วนแบ่งตลาดค้าซอฟต์แวร์ทีละนิด ซึ่งยิ่งส่งผลต่อ Open Source community ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว และยิ่งมีอิทธิพลต่อนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป เพราะ Open Source ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการทางซอฟต์แวร์อย่างมาก

แม้กระทั่งบริษัท Sun ก็ทนเสียงนักพัฒนา Java ทั่วโลก ที่เรียกร้องให้ Open Source ตัว java ไม่ไหว ด้วยเหตุผลหลาย เช่น การพัฒนา Java ที่ช้ากว่าที่ควร อันเนื่องมาจากโครงสร้างคณะกรรมการที่ี่ซับซ้อน (ซึ่งมีเอกชนหลายรายเข้าร่วม) หรือการไม่แพร่หลายของ Java อย่างที่ควรจะเป็น อันเนื่องมาจากลิขสิทธิ์ของ Sun เอง (ที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียเงินจำนวนมาก สำหรับค่า license ซึ่งอาจด้วยเหตุผลนี้ ที่ทำให้ซอฟต์แวร์หรือผลิตภัณฑ์บนเซิร์เวอร์ที่ใช้เทคโยโลยีจาวา จะมีราคาค่อนข้างแพง โดยเฉพาะตัวที่ใช้กับระบบ Unix เช่น Websphere ของ IBM) หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่ต้องใช้ Java ก็ติดปัญหา license ทำให้ไม่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างสร้างสรรได้ เช่น OpenOffice อีกทั้งเมื่อปี 2548 เกิดโครงการ Harmony ของกลุ่ม Apache ที่เป็นโครงการสร้าง Java ในแบบ Open Source และสิ่งกดดันสำคัญ คือ ความนิยมในตัว Mono (.NET Framework บน Unix) ที่เป็น Open Source เต็มตัว และถูกนำไปรวมอยู่ใน Linux อย่างแพร่หลาย (เป็นการส่งเสริม .NET ของต้นคิด Microsoft คู่แข่ง Sun นั้นเอง) ซึ่งจากปัญหาและความกดดันเหล่านี้ ทำให้ในที่สุดทาง Sun จึงได้ Open Source ตัว Java รุ่น Desktop (Standard Edition) ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ปีที่แล้วนี่เอง (ชนกับ Apache ไปเลย) แต่ยังเป็น Open Source เฉพาะรุ่น Standard Edition และ Micro Edition (เวอร์ชั่น open source จะเรียกรุ่น Micro Edition ว่า phoneME ส่วนตัว JDK จะเรียกว่า OpenJDK แทน) โดยการ Open Source ที่ว่านี้ ใช้ license แบบ GPL เวอร์ชั่น 2 (นั้นแน่ หลายคนเพิ่งรู้ใช่ไหมว่าที่ผ่านมา Java ไม่ใช่ Open Source)

ทางด้าน Microsoft นั้น นอกจากจะมีการร่วมมือกับบริษัท Novell ในการพัฒนา Mono แล้ว ยังเปิดศูนย์วิจัยและสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ Open Source ที่ชื่อ The Open Source Lab โดยมีเว็บ Port25 เป็น Community สำหรับนักพัฒนา นอกจากนั้น Microsoft ก็ได้เปิดเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งพัฒนาโครงการ Open Source ที่ชื่อ CodePlex อีก (คล้ายๆ SourceForge) เท่านั้นยังไม่พอ Microsoft ได้เห็นปัญหาความยุ่งยากและซับซ้อนของลิขสิทธิ์ ที่นักพัฒนาทั่วไปเข้าใจได้ยาก จึงได้คิด license ที่เป็นเนื้อหาน้อยมาก เมื่อเทียบกับ GPL (แนวคิดคล้าย Creative Common) ซึ่ง license ที่ว่านี้มีชื่อว่า Shared Source Licenses และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ในงาน O'Reilly Open Source conference นั้น ทางทีมงาน Microsoft ได้เล่าให้ฟังว่า กำลังยื่นเสนอต่อ Open Source Initiative (OSI) ให้อนุมัติ Shared Source Licenses เป็น license ที่ใช้สำหรับซอฟต์แวร์ทาง Open Source อย่างเป็นทางการ (ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา ทาง OSI ได้ประกาศรับรองให้ Shared Source Licenses 2 ตัว คือ Ms-PL และ Ms-RL เป็น License แบบ Open Source อย่างเป็นทางการแล้ว ดูข้อมูลเพิ่มเติมของ Shared Source Licenses ซึ่งแปลแบบคร่าวๆ ที่ Shared Source ลิขสิทธิ์แบบโอเพ่นซอร์สของไมโครซอฟต์) ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า Microsoft นั้นได้เปลี่ยนทิศทางจากการ anti open source มาเป็นการช่วยสนับสนุน open source ซึ่งผมว่าวันนี้ Microsoft มาถูกทางแล้วครับ

(link ข้างล่างทั้ง 3 ของย่อหน้านี้ ผมแนะนำให้อ่านอย่างยิ่ง)
ผมสังเกตอีกอย่างครับ ว่า บิล เกตส์์ มีท่าทีความคิดเปลี่ยนไป หลังจากเข้าพบ วอร์เรน บัพเฟตต์ (Warren Buffet) เศรษฐีอันดับ 2 ของโลก แล้วเริ่มมีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ซึ่งผมก็คิดว่าดีขึ้นเรื่อยๆ นะ เช่น การตั้งมูลนิธิ, การบริจาคเงินช่วยเหลือคนติดเอดส์ในเอเชีย (มูลนิธิบิลล์และมาลินดา เกตต์ จ่าย 280 ล้านดอลลาร์ต่อสู้วัณโรค), การให้ทุนการศึกษาแบบให้เปล่า, และที่โด่งดัง คือ การไปพูดที่ ม.ฮาร์วาร์ด แล้วพูดถึงเรื่องความยากจน และความไม่เสมอภาคของมนุษย์... และถามว่าทำไมฮาร์วาร์ด ไม่มีจิตวิญญาณเรื่องนี้เพียงพอ ในเรื่องพฤติกรรมเปลี่ยนไปของบิล เกตส์ นั้น หลายๆ คนค่อนข้างจะไม่เชื่อใจว่าเค้าจริงใจ เพราะภาพที่เชิงลบของบิล เกตส์ ยังคงฝังลึกอยู่ในใจ แต่ผมก็เชื่อโดยส่วนตัวว่าการที่ Microsoft เข้าสู่โลก Open Source นั้น ก็เพราะบิล เกตส์ มีทัศนะคติต่อโลกที่เปลี่ยนไปนั้นเอง ซึ่งในที่สุดแล้วระยะทางจะพิสูจน์ม้า กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์คนเองครับ

แหล่งข้อมูล :
Microsoft Open Source
PORT25 (Communication from The Open Source Software Lab @ Microsoft)
Shared Source Licenses
Sun Java OpenSource

Related Post