บทความนี้ ผมคัดลอกและปรับมาเพียงบางส่วนจากหนังสือ แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ของประเทศไทย โดย SIPA ซึ่งผมต้องการช่วยเผยแพร่ให้คนในวงการ ได้รับทราบหรือตระหนัก และนำไปสู่การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา
"การพัฒนาบุคคลากรที่มีฝีมือและมีคุณภาพจำนวนมาก"
"เราอาจจะกล่าวได้ว่าหัวใจของความสำเร็จ ในการพัฒนาอุตสาหกรรม IT ก็คือ คน นี่เอง สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับประเทศไทย คือ การพัฒนาบุคคลากร ซึ่งเราสร้างผู้จบการศึกษาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่กลับปรากฎว่า มีผู้สำเร็จการศึกษาตกงานเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ในภาคอุตสาหกรรมนั้ขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะประเภทที่เป็นฝีมือในระดับสูง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะระบบการศึกษาของประเทศไทยด้อยคุณภาพ ผลิตออกมาแต่ด้านปริมาณ โดยไม่มีคุณภาพที่ดีพอในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
ปัญหาเรื่องคุณภาพของระบบการศึกษานี้ ได้สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ และสถาบันต่างๆ ในการฝึกอบรมผู้ที่สำเร็จจากระบบการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สิ้นเปลื้องทั้งค่าใช้จ่าย และเสียเวลาแก่ประเทศชาติเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรม IT ซึ่งมีการพัฒนาที่รวดเร็วมาก ดังนั้นความรู้ต่างๆ จึงต้องมีการปรับปรุงให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ประเทศอย่าง สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี ต่างก็พยายามพัฒนาระบบการศึกษา ให้มีคุณภาพในระดับสูงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนรู้ให้ปฏิบัติในเชิงอุตสาหกรรมได้ แม้แต่ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม ก็ได้พยายามยกฐานะและระดับการศึกษาให้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว จนประสบความสำเร็จ เป็นที่ประทับใจจากนานประเทศ...................."
ความคิดเห็น - เราลองคิดง่ายๆ ว่า เวลาเราจะไปฝึกอบรมในเอกชน ยังต้องเสียเงินสำหรับค่าสอน แต่เด็กจบใหม่ที่ไม่สามารถทำงานได้ เรากลับต้องจ่ายเงินเดือนพร้อมฝึกอบรมให้อีก และคนที่แบกภาระนี้ ส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่บริษัทขนาดเล็ก เพราะบริษัทขนาดใหญ่ต่างแย่งตัวเด็กที่เก่งๆ ไปหมดแล้ว บริษัทแบบ SME ทุนก็น้อย ยังต้องมารับภาระแบบนี้อีก
อยากฝากให้เด็กรุ่นใหม่ได้ตระหนัก 2 อย่าง คือ
1. การศึกษา ถือเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การฝึกปฏิบัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นพอๆ กับการเรียนรู้ให้ห้องเรียน ซึ่งหลายๆ คนนั้น ได้งานจากความรู้เชิงปฏิบัติ มากกว่าเกรดสวยๆ เสียอีก
2. เราอาจจะคิดว่าการศึกษาของเราเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งทำให้หลายๆ คนคิดว่า การเรื่องหนังสือไม่เก่ง ไม่เข้าใจบทเรียนนั้น มีแค่ตัวเราเองที่ได้รับผลเสีย ซึ่งจริงๆ แล้วเกิดความเสียหายกระทบไปยังประเทศชาติอย่างคาดไม่ถึง (ดังที่บทความข้างบนได้กล่าวไว้) จึงอยากฝากให้เด็กรุ่นใหม่ ได้ตระหนักในบทบาทของตนเองที่มีต่อสังคมมากขึ้น
ส่วนภาคการศึกษานั้น ผมอยากให้ลองคิดกันดูครับว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่หลักสูตรกลับพัฒนาบทเรียนตามเทคโนโลยีไม่ทัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือ
1. วิชาเดิมแต่อัดเนื้อหาเพิ่มเข้าไป สมัยก่อนวิชา programming เรียนแค่การใช้ syntax, if, loop แต่ทุกวันนี้เรียนตั้งแต่ syntax, การใช้ library, framework, IDE tools, การติดต่อ database ไปจนถึง web services ในวิชาเดียว จากประสบการณ์ ผมเคยถูกจำกัดให้สอนการติดต่อ database ในคาบเดียว ทำให้เด็กไม่มีความลึกซึ่งในเนื้อหาเลย ผมอยากให้แบ่งเนื้อหาออกไปเป็นอีกหลายๆ วิชา แต่ก็ทำไม่ได้
2. ชื่อวิชาดูทันสมัย เช่น software design, design pattern, object-oriented แต่ผู้สอนกลับขาดทักษะ ขาดประสบการณ์ในอุตสาหกรรมจริง ตลอดจน(อาจจะ)ไม่รู้จริงไปเลยก็มี ที่จริงเรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติมานานแล้ว เพราะเราขาดครูที่มีคุณภาพจริงๆ เรียกได้ว่าสมองไหลไปวงการอื่นหมดเลยครับ (เงินน้อย งานหนักครับ สำหรับอาชีพครู)