
เรื่องแรกที่อยากจะเขียนถึง คือเรื่อง outsource ซึ่งถ้าเราไปค้นคว้าเกี่ยวกับระบบธุรกิจ outsource หรือ outsourcing (มาจากคำว่า Business Process Outsourcing - BPO) บทความส่วนใหญ่จะกล่าวในลักษณะมุมมองทางด้านการบริหาร หรือมุมมองของผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว ยังหาบทความที่พูดถึงผลกระทบต่อภาคแรงงาน หรือในมุมมองของพนักงาน ไม่ค่อยจะได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ เพราะจะได้เตรียมตัว ปรับตัว หรือหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงการบริหาร ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันนี้
จากการ์ตูน - สำหรับคนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ความว่า Director 3 คน กำลังบอก CEO ว่า "ทางบอร์ดได้ตัดสินใจ outsource งานของคุณไปให้คนที่อินเดียทำแทน ซึ่งเงินเดือนถูกกว่าคุณ 10 เท่า!" ซึ่งหมายความว่าตกงานครับ การ์ตูนตอนนี้ใช้หัวข้อว่า "ถ้าโลกยังมีความยุติธรรม...." ปัจจุบันภาคแรงงานสหรัฐอเมริกา ก็กำลังประสบปัญหาคนตกงานมากขึ้น คำถามที่เกิดขึ้น คือ ลูกจ้างจะต้องปรับตัวอย่างไร?
ก่อนอื่น เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการบริหารธุรกิจได้มองภาพออก ผมจึงขออธิบายเรื่อง outsourcing ให้พอทราบความเป็นมาบ้าง แล้วจะพูดถึงผลกระทบต่อลูกจ้าง ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกงานใหม่ (ที่มี outsource เป็นตัวเลือกด้วย) เลยทีเดียว


เนื่องจากลูกจ้างในปัจจุบันนั้นมีความรู้มากขึ้น จนหลายๆ คนอาจจะมีความรู้ หรือวุฒิสูงกว่านายจ้าง ลูกจ้างจึงแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ลูกจ้างที่ความรู้น้อย (Labor) และคนทำงานที่มีความรู้สูง (Knowledge Worker หรือ White-Collar Workforce) - (ในที่นี้ผมประมาณเอาคร่าวๆ ว่าเป็นผู้ที่จบ ป.ตรี ขึ้นไป) ผู้บริหารบริษัทต่างๆ นั้น กลับไม่ปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะประเทศฝั่งตะวันออก ที่เจ้าของ ผู้บริหาร หัวหน้า จะรู้สึกมีอำนาจใหญ่โตกว่าลูกน้องมากมาย เมื่อต้องมาทำงานร่วมกับพนักงานที่มีความรู้ บทบาทและอำนาจจึงลดน้อยลงไป เพราะพนักงานที่มีความรู้จะมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น การบริหารแบบเดิมที่มักใช้การออกคำสั่ง จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นการวานให้ช่วยแทน แต่นี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารไม่ชอบ เพราะต้องเสียเวลากับการบริหารคนมากขึ้น ส่วนในประเทศฝั่งตะวันตกก็มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานจำนวนมาก ทำให้นายจ้างยุ่งกับการบริหารงานบุคคล จนไม่มีเวลาไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือส่วนอื่นๆ รวมทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานก็สูงขึ้น และปัญหาที่มีร่วมกันทั่วโลก คือ การจัดหาแรงงาน (recuitment), การสัมภาษณ์งาน รวมทั้งงานเอกสารที่เกิดขึ้นของฝ่ายบุคคล เช่น งานภาษี, ประกันสังคม, ประกันสุขภาพ, งานอบรม, งานรับสมัคร เป็นต้น ที่เป็นต้นทุนอย่างมากในแต่ละกิจการ และปัญหาสุดท้าย คือ ปัญหาการจัดการปริมาณแรงงานกับปริมาณงานไม่สมดุลกัน บางช่วงงานมากแต่พนักงานน้อย บางช่วงงานน้อยแต่พนักงานมีมาก ครั้นจะรับพนักงานชั่วคราวก็ยุ่งยากและหายาก เพราะลูกจ้างที่มีความรู้มักจะต้องการเป็นพนักงานประจำมากกว่าพนักงานชั่วคราว

บทความยังไม่จบ เดี๋ยวมาเขียนต่อครับ...
แหล่งข้อมูล :
FOREIGN OUTSOURCING HITS THE U.S. WHITE-COLLAR WORKFORCE
ปีเตอร์ ดรักเกอร์, ทอม ปีเตอร์ และ ไมเคิล พอร์เตอร์ ต้นแบบของมหากูรูนักบริหารจัดการมืออาชีพ โดย ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์
ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ (2452-2548) กูรูในกูรู ตอน 1 โดย ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ (2452-2548) กูรูในกูรู ตอน 2 โดย ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
แนวโน้ม HR Outsourcing กับอนาคตของนักบริหารทรัพยากรบุคคล โดย ปิยวัฒน์ แก้วกัณฑรัตน์
ทำไม HR ต้อง Outsource?