วันจันทร์ที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ปัจจัยในการพัฒนาอุตสาหกรรม IT ของประเทศ ตอน 1 (Thai IT Industial devlelopment factor 1)

บทความนี้ ผมคัดลอกและปรับมาเพียงบางส่วนจากหนังสือ แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ของประเทศไทย โดย SIPA ซึ่งผมต้องการช่วยเผยแพร่ให้คนในวงการ ได้รับทราบหรือตระหนัก และนำไปสู่การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา

"การพัฒนาบุคคลากรที่มีฝีมือและมีคุณภาพจำนวนมาก"
"เราอาจจะกล่าวได้ว่าหัวใจของความสำเร็จ ในการพัฒนาอุตสาหกรรม IT ก็คือ คน นี่เอง สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับประเทศไทย คือ การพัฒนาบุคคลากร ซึ่งเราสร้างผู้จบการศึกษาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่กลับปรากฎว่า มีผู้สำเร็จการศึกษาตกงานเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ในภาคอุตสาหกรรมนั้ขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะประเภทที่เป็นฝีมือในระดับสูง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะระบบการศึกษาของประเทศไทยด้อยคุณภาพ ผลิตออกมาแต่ด้านปริมาณ โดยไม่มีคุณภาพที่ดีพอในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

ปัญหาเรื่องคุณภาพของระบบการศึกษานี้ ได้สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ และสถาบันต่างๆ ในการฝึกอบรมผู้ที่สำเร็จจากระบบการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สิ้นเปลื้องทั้งค่าใช้จ่าย และเสียเวลาแก่ประเทศชาติเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรม IT ซึ่งมีการพัฒนาที่รวดเร็วมาก ดังนั้นความรู้ต่างๆ จึงต้องมีการปรับปรุงให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ประเทศอย่าง สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี ต่างก็พยายามพัฒนาระบบการศึกษา ให้มีคุณภาพในระดับสูงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนรู้ให้ปฏิบัติในเชิงอุตสาหกรรมได้ แม้แต่ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม ก็ได้พยายามยกฐานะและระดับการศึกษาให้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว จนประสบความสำเร็จ เป็นที่ประทับใจจากนานประเทศ...................."

ความคิดเห็น - เราลองคิดง่ายๆ ว่า เวลาเราจะไปฝึกอบรมในเอกชน ยังต้องเสียเงินสำหรับค่าสอน แต่เด็กจบใหม่ที่ไม่สามารถทำงานได้ เรากลับต้องจ่ายเงินเดือนพร้อมฝึกอบรมให้อีก และคนที่แบกภาระนี้ ส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่บริษัทขนาดเล็ก เพราะบริษัทขนาดใหญ่ต่างแย่งตัวเด็กที่เก่งๆ ไปหมดแล้ว บริษัทแบบ SME ทุนก็น้อย ยังต้องมารับภาระแบบนี้อีก

อยากฝากให้เด็กรุ่นใหม่ได้ตระหนัก 2 อย่าง คือ
1. การศึกษา ถือเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การฝึกปฏิบัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นพอๆ กับการเรียนรู้ให้ห้องเรียน ซึ่งหลายๆ คนนั้น ได้งานจากความรู้เชิงปฏิบัติ มากกว่าเกรดสวยๆ เสียอีก
2. เราอาจจะคิดว่าการศึกษาของเราเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งทำให้หลายๆ คนคิดว่า การเรื่องหนังสือไม่เก่ง ไม่เข้าใจบทเรียนนั้น มีแค่ตัวเราเองที่ได้รับผลเสีย ซึ่งจริงๆ แล้วเกิดความเสียหายกระทบไปยังประเทศชาติอย่างคาดไม่ถึง (ดังที่บทความข้างบนได้กล่าวไว้) จึงอยากฝากให้เด็กรุ่นใหม่ ได้ตระหนักในบทบาทของตนเองที่มีต่อสังคมมากขึ้น

ส่วนภาคการศึกษานั้น ผมอยากให้ลองคิดกันดูครับว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่หลักสูตรกลับพัฒนาบทเรียนตามเทคโนโลยีไม่ทัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือ
1. วิชาเดิมแต่อัดเนื้อหาเพิ่มเข้าไป สมัยก่อนวิชา programming เรียนแค่การใช้ syntax, if, loop แต่ทุกวันนี้เรียนตั้งแต่ syntax, การใช้ library, framework, IDE tools, การติดต่อ database ไปจนถึง web services ในวิชาเดียว จากประสบการณ์ ผมเคยถูกจำกัดให้สอนการติดต่อ database ในคาบเดียว ทำให้เด็กไม่มีความลึกซึ่งในเนื้อหาเลย ผมอยากให้แบ่งเนื้อหาออกไปเป็นอีกหลายๆ วิชา แต่ก็ทำไม่ได้
2. ชื่อวิชาดูทันสมัย เช่น software design, design pattern, object-oriented แต่ผู้สอนกลับขาดทักษะ ขาดประสบการณ์ในอุตสาหกรรมจริง ตลอดจน(อาจจะ)ไม่รู้จริงไปเลยก็มี ที่จริงเรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติมานานแล้ว เพราะเราขาดครูที่มีคุณภาพจริงๆ เรียกได้ว่าสมองไหลไปวงการอื่นหมดเลยครับ (เงินน้อย งานหนักครับ สำหรับอาชีพครู)

วันอังคารที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

บ้านเราสร้างค่านิยมในสายอาชีพด้าน IT กันถูกหรือไม่ (Thai IT Career Path rigth or wrong?)

ยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ทำให้เราซึ่งทำงานเรื่อยๆ กลับกลายเป็นคนล้าหลัง โดยไม่คาดคิด
ไม่ใช่เพราะเราหัวโบราณ แต่เป็นเพราะเราไม่รู้ว่าโลกนั้นก้าวหน้าไปรวดเร็ว

คนเรามีความคิดและชีวิตแตกต่างกัน สิ่งแวดล้อมต่างกัน งานอดิเรกต่างกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่คนในวงการคอมฯ ต้องตระหนักคือ บริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แตกต่างจากบริบทในวงการอื่น เช่น วงการนิติศาสตร์ วงการรัฐศาสตร์ ที่นานๆจะเปลี่ยนกฎหมาย เปลี่ยนระบอบการปกครอง ซักที

ถามว่าผิดไหม ถ้าไม่ปรับตัวตามกระแส ก็ต้องตอบได้เลยว่า ไม่ผิด
แต่ Value ของคุณจะต่ำโดยธรรมชาติของยุคสมัยไปเอง

ดังนั้นสิ่งที่เราทำกันอยู่ คือ การเปลี่ยน career path ไปส่วนงานที่ไม่ใช้ทักษะเชิงเทคนิค
สังเกตว่าบ้านเรา ไม่มีตำแหน่งวิศวะกรอาวุโส ไม่มีโปรแกรมเมอร์ประสบการณ์สูงมีอายุ ไม่มี SA อายุ 50
แต่หลายๆคนก็จำใจเปลี่ยน เพราะเรื่องเงินเดือน

เรานิยมเรียนต่อ MBA เพื่อเลี่ยงการปรับตัวตลอดเวลาต่อเทคโนโลยี และคาดหวังจะเป็นหัวหน้าคน หรือเงินเดือนสูงๆ นอกจากนั้นยังมีค่านิยมที่เห็นว่าการบริหารใช้สมองมากกว่าเชิงเทคนิค (ที่ใช้แรงงาน)
เราจึงขาดคนที่เข้าใจต่อปัญหาการผลิตซอฟต์แวร์อย่างมาก เพราะคนที่มีประสบการณ์เปลี่ยนไปสายบริหาร
พอไม่ได้ใช้นานๆ ก็ลืม น่าเสียดายความรู้และประสบการณ์เชิงเทคนิค

อยากฝากให้พวกเราช่วยตระหนัก และเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ส่งเสริม Career Path เชิงเทคนิค เพื่อให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยก้าวไกลกว่านี้ครับ


จากรูปด้านบนจะเห็นได้ว่า ตำแหน่งงานในวงกลมสีเขียวส่วนมาก (คิดว่ามากกว่า 95% - ความคิดเห็นส่วนตัว รอคนทำสถิติอยู่) จะย้ายตำแหน่งไปเป็นสายเชิงบริหารในอนาคต ทำให้ตำแหน่งงานในวงกลมสีแดงขาดแคลนอย่างมาก ซึ่งเป็นเพราะปัจจัย 2 อย่าง คือ เงินเดือนในตำแหน่งนั้นๆ เทียบกับตำแหน่งที่ทำได้ในสายอื่นๆ และความรู้ของคนที่จะมาทำ

ขอยกคำพูดขอ ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ซอฟต์แวร์ปาร์ค เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว มาเป็นอุทธาหรณ์ดังนี้ครับ "......บุคลากรไอทีทั่วโลกมี 30 ล้านคน มีคนที่เป็น SA อยู่ประมาณ 1% ส่วนไทยมีบุคลากรไอที 35,000-40,000 คน ใช้บัญญัติไตรยางค์ก็จะได้ออกมาประมาณ 300-400 คน ตัวเลขกลมๆ และจากผลสำรวจพบว่า 70% ของสาเหตุที่ระบบไอทีล่มเหลวคือขาด SA ที่เชี่ยวชาญ........."

เป็นคำถามฝากให้คิดกันต่อไปแล้วกันครับว่า ที่ ดร.รอม พูดคำว่า SA ที่เชี่ยวชาญ นั้น หมายถึง SA ที่มีบาทหน้าที่อย่างไร เพราะหลายองค์กร จะให้ SA ทำหน้าที่ทั้ง Business Analyze, Software Design หรือบางทีอาจเหมือน Documentator หรือ Coordinator ไปเลยก็มี

ข้อมูลเพิ่มเติม:
ชำแหละจุดอ่อนอุตฯซอฟต์แวร์ไทย มีแต่รายย่อย-ขาดศักยภาพรับงานใหญ่
ความสำคัญของมาตรฐานคุณภาพ ต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
ชมรมสถาปนิกซอฟแวร์ หรือ IASA Thailand Chapter

วันจันทร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

อบรมฟรี Java Certificate ขั้นสูง โดย SIPA เชียงใหม่

ข่าวดีสำหรับนักพัฒนาสาย Java นะครับ ผู้ที่ได้ Cert SCJP (1.4 หรือ 5.0) อยู่แล้ว ทาง SIPA ร่วมกับบริษัท HITCHA จัดอบรมฟรี SCWCD, SCDJWS, SCBCD และ SCEA เป็นครั้งแรกของประเทศเลยนะครับ แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ภาคเหนือนะครับ เพราะการอบรมครั้งนี้ จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ครับ แม้จะอบรมวันเสาร์-อาทิตย์ แต่หลาย course จะพ่วงวันจันทร์ไปด้วยวันนึง จึงน่าเสียดายสำหรับคนอยู่พื้นที่อื่นๆ (ทำไมการอบรมในกรุงเทพมีแต่เสียเงินก็ไม่รู้ อยู่กรุงเทพก็มีคนจนนะครับ) งานนี้แค่อบรมครับ ถ้าจะสอบจริงต้องวางเงินอีก 2000 บาท ถ้าผ่านถึงจะให้เงินคืนครับ



กำหนดการอบรม (แต่ละหลักสูตร รับ 15 คน อบรมเวลา 9.00 - 16.00)
SCDJWS (Sun Certified Developer For Java Web Services)
อบรมวันเสาร์ถึงจันทร์ที่ 16-18 ส.ค.51
SCBCD (Sun Certified Business Component Developer)
อบรมวันเสาร์ถึงจันทร์ที่ 23-25 ส.ค.51
SCWCD (Sun Certified Web Component Developer)
อบรมวันเสาร์ถึงจันทร์ที่ 30, 31 สค. - 1 ก.ย.51
SCEA (Sun Certified Enterprise Architect)
อบรมวันเสาร์ถึงอาทิตย์ที่ 6-7 และ 13-14 ก.ย.51

งานนี้ผมขอบริษัทไปได้ครับ ยกเว้นแค่หลักสูตร SCDJWS เท่านั้น แล้วเจอกันที่ SIAP เชียงใหม่ครับ

update:
เต็มทุก course แล้วนะครับ
course SCBCD ที่อบรมเป็น Java 1.5 (EJB 3.0 ) ครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม :
SIPA ร่วมกับ Hitcha Co.,Ltd. จัดคอร์สอบรม Sun Java Certification ขั้นสูง - SIPA เชียงใหม่
Java Certification Overview - Sun Microsystem
Sun Certified Professional - Wikipedia
SIPA เชียงใหม่
SIPA ขอนแก่น
SIPA ภูเก็ต

วันเสาร์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑

Value Types (3) : Enumerations

Enumerations หรือ Sealed value types คือ กลุ่มของค่าคงที่ที่เรากำหนดขึ้นเอง ซึ่งกลุ่มของค่าคงที่เหล่านี้มักจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน และค่าคงที่เหล่านี้จะมีค่าเป็นตัวเลขกำกับไว้ด้วย หรือพูดง่ายๆ ว่ามันคือ (string) Array ในแบบ value type นั้นเองครับ (ปกติ Array ใน java หรือ .net จะเป็น object) ตัวเลขที่กำกับไว้ ก็เปรียบกับ index ใน array ครับ

ประโยชน์ของ Enumerations คือ
  • ทำให้โค้ดอ่านง่ายขึ้น (readability) ซึ่งทำให้ดูแลรักษาโค้ดง่ายด้วย (maintain)
  • ทำให้ลดการ hard coding ได้ (hard coding หรือ hard code คือ การฝังค่าข้อมูลลงใน source code เลยซึ่งถือเป็นการเขียนโปรแกรมที่ไม่เป็นระเบียบในระหว่างพัฒนา แต่อาจจะมีประโยชน์ในขั้นตอนทดสอบระบบ)
  • บางกรณีที่ใช้แทน array จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ (performance) ให้กับซอฟต์แวร์ที่เขียนได้
การประกาศ Enumeration สำหรับ VB.NET (Enumeration Declaration for VB.NET)
|<attributes>| |<modifiers>| Enum <identifier> |As <data>|
<enumerator-list> |= <number>| |:|
End Enum

การประกาศ Enumeration สำหรับ C# (Enumeration Declaration for C#)
|<attributes>| |<modifiers>| enum <identifier> |: <data>|
{
<enumerator-list> |= <number>| |,|
}

ความหมาย
ในเครื่องหมาย | หมายถึง มีหรือไม่มีก็ได้
attributes คือ แท็กซึ่งใช้สำหรับปรับแต่งความสามารถ
modifiers ได้แก่ Private, Friend, Public ส่วน Protected และ Protected Friend ไม่สามารถใช้ใน Module ได้
identifier คือ ชื่อที่จะตั้งให้ enum
data type ได้แก่ type ที่เป็นตัวเลขจำนวนเต็มทั้งหลาย ได้แก่ Byte, Integer, Long, SByte, Short, UInteger, ULong, UShort ถ้าไม่ระบุจะถือเป็น Integer

ตัวอย่าง

'VB.NET
Enum MemberStatus
Active
Inactive
Expire
Close
End Enum

Public Enum Result As Integer
Excellent = 2
Good = 1
Average = 0
Fair = -1
Poor = -2
End Enum

<Serializable()> Protected Friend Enum ColorCode As Byte
Red = 100 : Green = 51 : Blue = 255
End Enum

//C#
enum MemberStatus
{
Active,
Inactive,
Expire,
Close
}

public enum Result : int
{
Excellent = 2
Good = 1
Average = 0
Fair = -1
Poor = -2
}

[Serializable]
protected internal enum ColorCode : byte
{
Red = 100, Green = 51, Blue = 255
}

แหล่งข้อมูล :
Enum Statement (Visual Basic)
Enumerations in VB.NET (ASP Alliance)
Enumeration (StartVBDotNet)
What are Enumerations in VB.NET and how are they used?
what the difference between Enum and an ARRAY?
Programmatically Enumerate the values of an ENUM structure in VB.NET
enum - C# Online.NET

วันศุกร์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑

Outsource : สวรรค์ของนายจ้างหรือลูกจ้าง (Outsource : Employer's heaven or Employee's haeven?)

วันนี้ ผมถือเป็นฤกษ์งามยามดี เพราะ 4 ปีจะมีซักครั้ง เลยมาเขียนบทความที่ได้จากการตกผลึก เกี่ยวกับวงการไอทีบ้านเรา หลังจากที่ผมได้หยุดงานทุกอย่าง แล้วพักผ่อนอย่างเต็มที่ 2 เดือน

เรื่องแรกที่อยากจะเขียนถึง คือเรื่อง outsource ซึ่งถ้าเราไปค้นคว้าเกี่ยวกับระบบธุรกิจ outsource หรือ outsourcing (มาจากคำว่า Business Process Outsourcing - BPO) บทความส่วนใหญ่จะกล่าวในลักษณะมุมมองทางด้านการบริหาร หรือมุมมองของผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว ยังหาบทความที่พูดถึงผลกระทบต่อภาคแรงงาน หรือในมุมมองของพนักงาน ไม่ค่อยจะได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ เพราะจะได้เตรียมตัว ปรับตัว หรือหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงการบริหาร ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันนี้

จากการ์ตูน - สำหรับคนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ความว่า Director 3 คน กำลังบอก CEO ว่า "ทางบอร์ดได้ตัดสินใจ outsource งานของคุณไปให้คนที่อินเดียทำแทน ซึ่งเงินเดือนถูกกว่าคุณ 10 เท่า!" ซึ่งหมายความว่าตกงานครับ การ์ตูนตอนนี้ใช้หัวข้อว่า "ถ้าโลกยังมีความยุติธรรม...." ปัจจุบันภาคแรงงานสหรัฐอเมริกา ก็กำลังประสบปัญหาคนตกงานมากขึ้น คำถามที่เกิดขึ้น คือ ลูกจ้างจะต้องปรับตัวอย่างไร?

ก่อนอื่น เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการบริหารธุรกิจได้มองภาพออก ผมจึงขออธิบายเรื่อง outsourcing ให้พอทราบความเป็นมาบ้าง แล้วจะพูดถึงผลกระทบต่อลูกจ้าง ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกงานใหม่ (ที่มี outsource เป็นตัวเลือกด้วย) เลยทีเดียว

โดยในการค้นคว้าของผมนั้น ก็ไม่ได้อ้างทฤษฎีอะไรมาก แค่จะนำหนังสือด้านบริหารที่ผมชอบอ่านมาเล่าให้ฟังเท่านั้นเอง ซึ่งหนึ่งในหนังสือเกี่ยวกับการบริหารที่ผมชอบอ่าน คือ หนังสือแปลที่เป็นผลงานของปีเตอร์ ดรักเกอร์ ซึ่ง Peter F. Drucker เองนั้น เป็น "บิดาแห่งศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการ" ประสบการณ์กว่า 90 ปี ตั้งแต่ยุค ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud), ฮิตเลอร์ (Hitler) ไปจนถึงจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยุคโลกแห่งระบบเศรษฐกิจใหม่ เคยถูกเชิญให้มาศึกษาปรับเปลี่ยนการบริหารองค์กรเอกชน และภาครัฐหลายแห่ง เช่น General Motor, Ford, IBM (ยุคที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีความคิดที่จะเชิญดรักเกอร์ มาพูดปาฐกถาในประเทศไทย แต่เนื่องจากค่าตัวสูงหลายล้าน จึงได้ล้มความคิดนี้ไป เพราะช่วงนั้นไทยเพิ่งผ่านวิกฤษเศรษฐกิจ ปี 40 มาไม่นาน) ส่วนผลงานหนังสือ ที่ทำให้เขาโด่งดัง คือหนังสือชื่อ Concept of the Coporation (1942) อันเป็นที่มาของการบริหารแบบกระจายอำนาจ และหนังสือที่ถือเป็นการปฏิวัติวงการการจัดการสมัยใหม่ คือหนังสือที่ชื่อ Practice of Management (1954) ดรักเกอร์ได้รับคำชมว่ามีความรอบรู้ทั้งเชิงลึกและกว้าง สามารถสังเกตการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เร็วกว่าคนอื่น 20 ปี (แม้แต่ บิล เกตต์ เองก็ยังบอกว่า หนังสือด้านการจัดการที่มีอิทธิพลต่อตัวเกตต์ที่สุดคือหนังสือของดรักเกอร์) ดรักเกอร์ได้เปิดโรงเรียนบริหารธุรกิจปีเตอร์ ดรักเกอร์ ที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนท์ (Claremont Graduate School) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ปัจจุบันดรักเกอร์ได้เสียชีวิตไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2005 มีถ้อยคำที่เป็นอมตะฝากไว้ เช่น "ผมไม่เคยพบผู้บริหารที่ทำงาน 2 อย่างในเวลาเดียวกัน แล้วจะมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม" หรือ "ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพียงประการเดียว ที่นักบริหารจัดการ คือ การ เพิ่มผลิตผลแก่คนทำงานที่ใช้ความรู้ (knowledge worker)" แต่คำพูดที่ผมชอบที่สุด คือ "พวกเขาไม่ใช่ลูกจ้าง แต่พวกเขาคือคนทำงาน" (Knowledge worker isn't labor)

เมื่อผมอ่านงานเขียนของดรักเกอร์ จึงประมวลความคิดได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมบริษัทต่างๆจึงชอบ outsource โดยผมจะอ้างอิงจากหนังสือที่แปลจากสำนักพิมพ์ Hardvard Business School Press เป็นภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์เอ็กซเปอร์เน็ท ดังรูป

เนื่องจากลูกจ้างในปัจจุบันนั้นมีความรู้มากขึ้น จนหลายๆ คนอาจจะมีความรู้ หรือวุฒิสูงกว่านายจ้าง ลูกจ้างจึงแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ลูกจ้างที่ความรู้น้อย (Labor) และคนทำงานที่มีความรู้สูง (Knowledge Worker หรือ White-Collar Workforce) - (ในที่นี้ผมประมาณเอาคร่าวๆ ว่าเป็นผู้ที่จบ ป.ตรี ขึ้นไป) ผู้บริหารบริษัทต่างๆ นั้น กลับไม่ปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะประเทศฝั่งตะวันออก ที่เจ้าของ ผู้บริหาร หัวหน้า จะรู้สึกมีอำนาจใหญ่โตกว่าลูกน้องมากมาย เมื่อต้องมาทำงานร่วมกับพนักงานที่มีความรู้ บทบาทและอำนาจจึงลดน้อยลงไป เพราะพนักงานที่มีความรู้จะมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น การบริหารแบบเดิมที่มักใช้การออกคำสั่ง จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นการวานให้ช่วยแทน แต่นี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารไม่ชอบ เพราะต้องเสียเวลากับการบริหารคนมากขึ้น ส่วนในประเทศฝั่งตะวันตกก็มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานจำนวนมาก ทำให้นายจ้างยุ่งกับการบริหารงานบุคคล จนไม่มีเวลาไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือส่วนอื่นๆ รวมทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานก็สูงขึ้น และปัญหาที่มีร่วมกันทั่วโลก คือ การจัดหาแรงงาน (recuitment), การสัมภาษณ์งาน รวมทั้งงานเอกสารที่เกิดขึ้นของฝ่ายบุคคล เช่น งานภาษี, ประกันสังคม, ประกันสุขภาพ, งานอบรม, งานรับสมัคร เป็นต้น ที่เป็นต้นทุนอย่างมากในแต่ละกิจการ และปัญหาสุดท้าย คือ ปัญหาการจัดการปริมาณแรงงานกับปริมาณงานไม่สมดุลกัน บางช่วงงานมากแต่พนักงานน้อย บางช่วงงานน้อยแต่พนักงานมีมาก ครั้นจะรับพนักงานชั่วคราวก็ยุ่งยากและหายาก เพราะลูกจ้างที่มีความรู้มักจะต้องการเป็นพนักงานประจำมากกว่าพนักงานชั่วคราว

ปัญหาทั้งหมดนี้ทำให้ outsourcing นิยมขึ้นทั่วโลก โดยบริษัทขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกก็ outsource งานมาฝั่งประเทศตะวันออก เช่น จีนและอินเดีย เพราะแรงงานมีราคาถูกกว่า, กฎหมายแรงงานเข้มงวดน้อยกว่า ด้านประเทศฝั่งตะวันออก และบริษัทขนาดเล็กฝั่งตะวันตกก็ไม่ได้ outsource งานไปไหน แต่จะนิยม outsource งานภายใน ให้บริษัทภายนอกมาทำอยู่ในองค์กรนั้นเลย

บทความยังไม่จบ เดี๋ยวมาเขียนต่อครับ...

แหล่งข้อมูล :
FOREIGN OUTSOURCING HITS THE U.S. WHITE-COLLAR WORKFORCE
ปีเตอร์ ดรักเกอร์, ทอม ปีเตอร์ และ ไมเคิล พอร์เตอร์ ต้นแบบของมหากูรูนักบริหารจัดการมืออาชีพ โดย ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์
ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ (2452-2548) กูรูในกูรู ตอน 1 โดย ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ (2452-2548) กูรูในกูรู ตอน 2 โดย ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
แนวโน้ม HR Outsourcing กับอนาคตของนักบริหารทรัพยากรบุคคล โดย ปิยวัฒน์ แก้วกัณฑรัตน์
ทำไม HR ต้อง Outsource?