วันศุกร์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑

Outsource : สวรรค์ของนายจ้างหรือลูกจ้าง (Outsource : Employer's heaven or Employee's haeven?)

วันนี้ ผมถือเป็นฤกษ์งามยามดี เพราะ 4 ปีจะมีซักครั้ง เลยมาเขียนบทความที่ได้จากการตกผลึก เกี่ยวกับวงการไอทีบ้านเรา หลังจากที่ผมได้หยุดงานทุกอย่าง แล้วพักผ่อนอย่างเต็มที่ 2 เดือน

เรื่องแรกที่อยากจะเขียนถึง คือเรื่อง outsource ซึ่งถ้าเราไปค้นคว้าเกี่ยวกับระบบธุรกิจ outsource หรือ outsourcing (มาจากคำว่า Business Process Outsourcing - BPO) บทความส่วนใหญ่จะกล่าวในลักษณะมุมมองทางด้านการบริหาร หรือมุมมองของผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว ยังหาบทความที่พูดถึงผลกระทบต่อภาคแรงงาน หรือในมุมมองของพนักงาน ไม่ค่อยจะได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ เพราะจะได้เตรียมตัว ปรับตัว หรือหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงการบริหาร ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันนี้

จากการ์ตูน - สำหรับคนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ความว่า Director 3 คน กำลังบอก CEO ว่า "ทางบอร์ดได้ตัดสินใจ outsource งานของคุณไปให้คนที่อินเดียทำแทน ซึ่งเงินเดือนถูกกว่าคุณ 10 เท่า!" ซึ่งหมายความว่าตกงานครับ การ์ตูนตอนนี้ใช้หัวข้อว่า "ถ้าโลกยังมีความยุติธรรม...." ปัจจุบันภาคแรงงานสหรัฐอเมริกา ก็กำลังประสบปัญหาคนตกงานมากขึ้น คำถามที่เกิดขึ้น คือ ลูกจ้างจะต้องปรับตัวอย่างไร?

ก่อนอื่น เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการบริหารธุรกิจได้มองภาพออก ผมจึงขออธิบายเรื่อง outsourcing ให้พอทราบความเป็นมาบ้าง แล้วจะพูดถึงผลกระทบต่อลูกจ้าง ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกงานใหม่ (ที่มี outsource เป็นตัวเลือกด้วย) เลยทีเดียว

โดยในการค้นคว้าของผมนั้น ก็ไม่ได้อ้างทฤษฎีอะไรมาก แค่จะนำหนังสือด้านบริหารที่ผมชอบอ่านมาเล่าให้ฟังเท่านั้นเอง ซึ่งหนึ่งในหนังสือเกี่ยวกับการบริหารที่ผมชอบอ่าน คือ หนังสือแปลที่เป็นผลงานของปีเตอร์ ดรักเกอร์ ซึ่ง Peter F. Drucker เองนั้น เป็น "บิดาแห่งศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการ" ประสบการณ์กว่า 90 ปี ตั้งแต่ยุค ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud), ฮิตเลอร์ (Hitler) ไปจนถึงจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยุคโลกแห่งระบบเศรษฐกิจใหม่ เคยถูกเชิญให้มาศึกษาปรับเปลี่ยนการบริหารองค์กรเอกชน และภาครัฐหลายแห่ง เช่น General Motor, Ford, IBM (ยุคที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีความคิดที่จะเชิญดรักเกอร์ มาพูดปาฐกถาในประเทศไทย แต่เนื่องจากค่าตัวสูงหลายล้าน จึงได้ล้มความคิดนี้ไป เพราะช่วงนั้นไทยเพิ่งผ่านวิกฤษเศรษฐกิจ ปี 40 มาไม่นาน) ส่วนผลงานหนังสือ ที่ทำให้เขาโด่งดัง คือหนังสือชื่อ Concept of the Coporation (1942) อันเป็นที่มาของการบริหารแบบกระจายอำนาจ และหนังสือที่ถือเป็นการปฏิวัติวงการการจัดการสมัยใหม่ คือหนังสือที่ชื่อ Practice of Management (1954) ดรักเกอร์ได้รับคำชมว่ามีความรอบรู้ทั้งเชิงลึกและกว้าง สามารถสังเกตการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เร็วกว่าคนอื่น 20 ปี (แม้แต่ บิล เกตต์ เองก็ยังบอกว่า หนังสือด้านการจัดการที่มีอิทธิพลต่อตัวเกตต์ที่สุดคือหนังสือของดรักเกอร์) ดรักเกอร์ได้เปิดโรงเรียนบริหารธุรกิจปีเตอร์ ดรักเกอร์ ที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนท์ (Claremont Graduate School) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ปัจจุบันดรักเกอร์ได้เสียชีวิตไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2005 มีถ้อยคำที่เป็นอมตะฝากไว้ เช่น "ผมไม่เคยพบผู้บริหารที่ทำงาน 2 อย่างในเวลาเดียวกัน แล้วจะมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม" หรือ "ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพียงประการเดียว ที่นักบริหารจัดการ คือ การ เพิ่มผลิตผลแก่คนทำงานที่ใช้ความรู้ (knowledge worker)" แต่คำพูดที่ผมชอบที่สุด คือ "พวกเขาไม่ใช่ลูกจ้าง แต่พวกเขาคือคนทำงาน" (Knowledge worker isn't labor)

เมื่อผมอ่านงานเขียนของดรักเกอร์ จึงประมวลความคิดได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมบริษัทต่างๆจึงชอบ outsource โดยผมจะอ้างอิงจากหนังสือที่แปลจากสำนักพิมพ์ Hardvard Business School Press เป็นภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์เอ็กซเปอร์เน็ท ดังรูป

เนื่องจากลูกจ้างในปัจจุบันนั้นมีความรู้มากขึ้น จนหลายๆ คนอาจจะมีความรู้ หรือวุฒิสูงกว่านายจ้าง ลูกจ้างจึงแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ลูกจ้างที่ความรู้น้อย (Labor) และคนทำงานที่มีความรู้สูง (Knowledge Worker หรือ White-Collar Workforce) - (ในที่นี้ผมประมาณเอาคร่าวๆ ว่าเป็นผู้ที่จบ ป.ตรี ขึ้นไป) ผู้บริหารบริษัทต่างๆ นั้น กลับไม่ปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะประเทศฝั่งตะวันออก ที่เจ้าของ ผู้บริหาร หัวหน้า จะรู้สึกมีอำนาจใหญ่โตกว่าลูกน้องมากมาย เมื่อต้องมาทำงานร่วมกับพนักงานที่มีความรู้ บทบาทและอำนาจจึงลดน้อยลงไป เพราะพนักงานที่มีความรู้จะมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น การบริหารแบบเดิมที่มักใช้การออกคำสั่ง จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นการวานให้ช่วยแทน แต่นี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารไม่ชอบ เพราะต้องเสียเวลากับการบริหารคนมากขึ้น ส่วนในประเทศฝั่งตะวันตกก็มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานจำนวนมาก ทำให้นายจ้างยุ่งกับการบริหารงานบุคคล จนไม่มีเวลาไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือส่วนอื่นๆ รวมทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานก็สูงขึ้น และปัญหาที่มีร่วมกันทั่วโลก คือ การจัดหาแรงงาน (recuitment), การสัมภาษณ์งาน รวมทั้งงานเอกสารที่เกิดขึ้นของฝ่ายบุคคล เช่น งานภาษี, ประกันสังคม, ประกันสุขภาพ, งานอบรม, งานรับสมัคร เป็นต้น ที่เป็นต้นทุนอย่างมากในแต่ละกิจการ และปัญหาสุดท้าย คือ ปัญหาการจัดการปริมาณแรงงานกับปริมาณงานไม่สมดุลกัน บางช่วงงานมากแต่พนักงานน้อย บางช่วงงานน้อยแต่พนักงานมีมาก ครั้นจะรับพนักงานชั่วคราวก็ยุ่งยากและหายาก เพราะลูกจ้างที่มีความรู้มักจะต้องการเป็นพนักงานประจำมากกว่าพนักงานชั่วคราว

ปัญหาทั้งหมดนี้ทำให้ outsourcing นิยมขึ้นทั่วโลก โดยบริษัทขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกก็ outsource งานมาฝั่งประเทศตะวันออก เช่น จีนและอินเดีย เพราะแรงงานมีราคาถูกกว่า, กฎหมายแรงงานเข้มงวดน้อยกว่า ด้านประเทศฝั่งตะวันออก และบริษัทขนาดเล็กฝั่งตะวันตกก็ไม่ได้ outsource งานไปไหน แต่จะนิยม outsource งานภายใน ให้บริษัทภายนอกมาทำอยู่ในองค์กรนั้นเลย

บทความยังไม่จบ เดี๋ยวมาเขียนต่อครับ...

แหล่งข้อมูล :
FOREIGN OUTSOURCING HITS THE U.S. WHITE-COLLAR WORKFORCE
ปีเตอร์ ดรักเกอร์, ทอม ปีเตอร์ และ ไมเคิล พอร์เตอร์ ต้นแบบของมหากูรูนักบริหารจัดการมืออาชีพ โดย ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์
ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ (2452-2548) กูรูในกูรู ตอน 1 โดย ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ (2452-2548) กูรูในกูรู ตอน 2 โดย ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
แนวโน้ม HR Outsourcing กับอนาคตของนักบริหารทรัพยากรบุคคล โดย ปิยวัฒน์ แก้วกัณฑรัตน์
ทำไม HR ต้อง Outsource?